วิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกเป็นเด็กสมาธิสั้น หากเป็นแล้วมีผลกระทบอะไร แก้ปัญหายังไงได้บ้าง

หัวข้อกระทู้ ใน 'คลังความรู้เรื่องแม่และเด็ก' เริ่มโพสต์โดย Number18, 10 กันยายน 2014.

  1. Number18

    Number18 Moderator Staff Member

    1392682_68610718.jpg


    เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็มักจะพูดถึงเรื่องของ "โรคสมาธิสั้น" ที่มักจะเกิดกับเด็กผู้ชายในช่วง 6 ขวบ ไปจนถึง 12 ปี คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่ว่า ปัจจัยหนึ่งของโรคสมาธิสั้นนั้น อาจเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมของพ่อแม่ก็ได้ ทำให้เด็กเกิด "ภาวะสมาธิสั้น" หรือ "สมาธิสั้นเทียม" เป็นเด็กที่ทำอะไรได้ประเดี๋ยวประด๋าว ดูซุกซน ไม่อยู่นิ่งตลอดเวลา ไม่อดทนรอคอย เล่นของเล่นแล้วเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เล่นของเล่นชิ้นนี้ยังไม่เท่าไหร่ เปลี่ยนใจไปเล่นของเล่นชิ้นใหม่ หรืออยากทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน พฤติกรรมนี้ ไม่ใช่แค่มีผลเสียแก่เด็กเท่านั้น พ่อแม่ก็พลอยปวดหัว และคิดว่าลูกเป็นเด็กเลี้ยงยาก และเหนื่อยมากขึ้น หากพ่อแม่ ไม่ต้องการให้ลูกกลายเป็นเด็กสมาธิสั้น ควรปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกตั้งแต่เล็กๆ เพื่อให้เด็กได้มีสมาธิมากขึ้น

    1. การดูทีวี
    การดูทีวี เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เด็กมีอาการสมาธิสั้นก็ว่าได้ แม้จะเห็นว่าลูกใจจดใจจ่อ สนใจทีวี จ้องตาไม่กระพริบน่าจะเป็นการทำให้เด็กมีสมาธิในการดู การฟัง แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่เด็กสนใจคือ สีสัน และรูปภาพที่ปรากฏบนจอ ภาพถูกตัดเป็นช่วงสั้นๆ การที่เด็กจ้องโทรทัศน์จึงไม่ได้เป็นการทำให้เด็กมีสมาธิ แต่กลับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กให้มีสมาธิสั้นลงในการทำกิจกรรมอื่นๆ


    2. การเล่นของเล่น
    บางครั้งพ่อแม่ อยากเสริมสร้างพัฒนาการเด็กด้วยการซื้อของเล่นมาให้เยอะแยะมากมายในคราวเดียวกัน การที่เด็กมีของเล่นมากมาย กลับมีผลเสียทั้งด้านสมาธิ และการพัฒนาการของเด็ก เพราะเด็กไม่มีสมาธิจดจ่อกับของเล่นชิ้นใดชิ้นหนึ่งจนจบกระบวนการ แต่กลับรู้สึกว่ามีของเล่นอีกตั้งมากมาย อยากหยิบจับ เรียนรู้ทุกอย่างมากเกินไป การให้เด็กเล่นของเล่นจึงควรให้เล่นทีละอย่าง ให้เด็กได้เรียนรู้ของเล่นแต่ละอย่างจนครบกระบวนการ ให้เด็กได้เล่นซ้ำจนเรียนรู้ได้มากขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นของเล่นชิ้นใหม่


    3. การเพิ่มสมาธิให้ลูก
    ในขณะที่เด็กกำลังใจจดใจจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราสามารถเพิ่มสมาธิให้ลูกได้ด้วยการเสริมความรู้กับสิ่งนั้นๆ เช่น การชวนคุย หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ เพื่อให้เด็กได้อยู่กับสิ่งนั้นต่อไปได้อีกหน่อย เช่น ขณะที่เด็กกำลังจับตุ๊กตาไดโนเสาร์ ก็อาจชี้ชวนให้ดูฟัน หรือเล็บไดโนเสาร์ ถามต่อไปว่ารู้มั้ยว่าไดโนเสาร์ตัวนี้ชื่ออะไร มีลักษณะต่างกับตัวอื่นๆ ยังไง หรือเมื่ออ่านนิทานจบ ก็ลองตั้งคำถามแบบง่ายๆ เกี่ยวกับเรื่องราวในนิทาน เช่นตัวละครชื่ออะไรบ้างนะ มีทั้งหมดกี่คน เค้าทำอะไรกันบ้าง เพื่อเป็นการทบทวนความจำ และเป็นการยืดสมาธิให้เด็กจดจ่อกับเรื่องราวได้ยาวนานขึ้น


    4. การยืดสมาธิเด็ก
    ส่วนใหญ่เด็กๆ จะมีความสนใจค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว แต่หากเราพยายามที่จะยืดสมาธิเด็กให้ยาวออกไปได้นิดหน่อย ก็จะเป็นผลดีกับเด็กด้วย การยืดสมาธิเด็กก็ทำได้หลายวิธี เช่นการเล่นของเล่นอย่างเดียวในหลายๆ วิธี การเสริมสร้างกำลังใจ ด้วยการชม หรือขณะที่ลูกกำลังจะไม่สนใจหนังสือนิทานที่อ่านให้ฟังอยู่ ก็อาจจะชี้ชวนให้ดูรายละเอียดในรูปภาพ เช่นดูแมวตัวเล็กๆ ที่อยู่มุมภาพ แล้วจึงค่อยๆ ชวนให้ลูกกลับมาสนใจนิทานกันต่อ


    5. กำหนดเวลาที่แน่นอนให้เด็ก
    การวางแผนการทำกิจวัตรประจำวันให้เด็ก จะทำให้เด็กเรียนรู้ขั้นตอนกิจกรรมของตัวเองตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนถึงเวลาเข้านอน ช่วยทำให้เด็กมีวินัย รู้ว่าจะต้องทำกิจกรรมอะไรต่อไป และต้องทำให้เสร็จเป็นอย่างๆ ก่อนที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ เช่นพ่อแม่กำหนดเวลาให้ลูกเล่นช่วงหลังอาหารเย็น 1 ชั่วโมง แล้วจึงอาบน้ำ แปรงฟัน และเข้านอนตามเวลา


    6. การฝึกให้เด็กสวดมนต์ หรือการฟังเสียงสวดมนต์
    การฝึกให้เด็กได้สวดมนต์ก่อนเข้านอน อาจดูเป็นเรื่องของความเชื่อมากเกินไปสำหรับบางคน แต่การนำเด็กสวดมนต์ก่อนเข้านอน จะช่วยให้เด็กรับรู้ถึงสัญญานการเปลี่ยนพฤติกรรม จากโหมดการเล่น เป็นโหมดการนอน การสอนให้เด็กได้สวดมนต์ตามที่พ่อแม่บอก ทำให้เด็กมีสมาธิจากการฟัง และจดจำคำสวด การทำซ้ำทำให้ร่างกายเด็กเรียนรู้ว่ากำลังถึงเวลาที่จะต้องนอนหลับ เสียงสวดมนต์เป็นโทนเสียงที่ทำให้คลื่นสมองของเด็กเปลี่ยนจากการตื่นตัว ไปสู่การพักผ่อน ทำให้นอนหลับสนิท ไม่ฝันร้าย ไม่ควรให้เด็กดูทีวีก่อนนอน เพราะบางครั้งภาพในทีวีอาจติดไปในจิตใต้สำนึก และทำให้เด็กฝันร้ายได้

    ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องลองทบทวนแล้วว่า การเลี้ยงลูก หรือการเล่นกับลูกทำให้ลูกมีสมาธิมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร การทำให้เด็กมีสมาธิที่ดีนั้น คือการหาวิธิีการให้เด็กได้มีความสนใจในสิ่งๆ เดียวในระยะเวลาที่นานเพียงพอ หากเด็กไม่มีสมาธิ การเรียนรู้สิ่งต่างๆ ก็จะไม่ดีไปด้วย การฝึกให้เด็กมีจิตใจตั้งมั่น จดจ่อ อดทน รอคอย และพยายามทำงานจนสำเร็จ จึงเป็นการสร้างพื้นฐานที่สำคัญของกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ในอนาคต


    สมาธิสั้นเป็นปัญหาขนาดนั้นเลยหรือ
    ในปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่หลายคน ยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบของเด็กสมาธิสั้นกันเท่าไรนัก เพราะยังมีครอบครัวมากมายปล่อยให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้กันมาก โดยเฉพาะการให้เล่น Tablet ต่าง ๆ รวมถึง iPad และ iPhone ด้วย ซึ่งเจ้า Tablet นี่แหละที่ทำให้เด็กมีปัญหาในด้านสมาธิสั้นกันมาก เพราะสามารถเปลี่ยนไปเล่นเกมนั้นเกมนี้ได้เพียงแค่ไม่กี่คลิ๊กเท่านั้น

    ถ้าถามว่าทำไมถึงต้องกังวลเรื่องสมาธิสั้นของลูก ๆ เราขนาดนั้นด้วย นั่นก็เพราะว่ามันเป็นปัญหาที่จะกระทบการศึกษาของเด็กน่ะสิ เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นตามโรงเรียนหลายแห่ง ที่ทำให้ทั้งครูและผู้ปกครองต้องปวดหัวไปตาม ๆ กัน เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีพฤติกรรมไม่มีสมาธิในการเรียน ทำให้เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง ทำคะแนนได้ไม่ดี ไม่ผ่านเกณฑ์ .. ถึงขนาดที่ว่า ทางโรงเรียนต้องให้ผู้ปกครองไปขอใบรับรองจากแพทย์ว่า ลูกของตนเป็นเด็กพิเศษ (ที่มีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้) จึงจะสามารถขึ้นชั้นไปได้

    เรื่องนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของเพื่อนที่รู้จักกันดีด้วย ทำให้รู้ว่ามันเป็นปัญหาสำคัญจริง ๆ มองข้ามไม่ได้เลย

    การจะทำให้เด็กมีสมาธิมากขึ้นหรือนิ่งขึ้นนั้น ก็ต้องกินยาที่ได้รับจากแพทย์ ซึ่งมีราคาสูงพอประมาณเลย ขนาดที่ว่าครอบครัวเพื่อนต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะใหวหรือเปล่า ถ้ายังต้องกินยาอยู่แบบนี้


    ข้อมูลเพิ่มเติม
    http://www.si.mahidol.ac.th/th/department/psychiatrics/dept_article_detail.asp?a_id=393

    เด็กสมาธิสั้น เด็กมีปัญหาการเรียน ใน " เข้าใจวัยซนกับหมอณัฐพล "


    วิธีการดูแลเด็กสมาธิสั้น


    เด็กสมาธิสั้น จากรายการ Mom Gossip


    ความเข้าใจใหม่ต่อเด็กสมาธิสั้น

แบ่งปันหน้านี้