เทคนิคและวิธีจัดการ เด็กดื้อ ไม่เชื่อฟัง พฤติกรรมไม่ดี จะดูแลและแก้ปัญหายังไงดี

หัวข้อกระทู้ ใน 'คลังความรู้เรื่องแม่และเด็ก' เริ่มโพสต์โดย Number18, 18 กันยายน 2014.

  1. Number18

    Number18 Moderator Staff Member

    kid.jpg

    ไม่แน่ใจว่าคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายจะ รู้จักคำว่า Terrible Twos หรือเปล่า เพราะว่ามันเกี่ยวกับเรื่องเด็กดื้อมาก ๆ นั่นเอง เลยขอตั้งเป็นไทยว่า เค้าว่าหนูเป็น...เด็กดื้อ จอมวายร้าย วัยสองขวบ (Terrible Twos) ไว้ ณ ที่นี้

    คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ หลายคนอาจกำลังมีปัญหาเรื่องการรับมือกับพฤติกรรมลูกน้อยในวัยที่เรียกว่ากำลังซน กำลังดื้อ ซึ่งมักจะเป็นตั้งแต่เริ่มเข้า 2 - 3 ขวบ เป็นวัยที่เด็กกำลังเริ่มแผลงฤทธิ์ ต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง คล้ายๆ กับวัยเบญจเพสในวัยรุ่น ฝรั่งเค้าเรียกช่วงนี้ว่าแทริเบิล ทูส์ (Terrible Twos) มาจากคำว่า Terrible แปลว่า แย่ ร้ายแรง น่ากลัว ส่วนคำว่า Twos ก็มาจากช่วงอายุของเด็กสองขวบ (ในความเป็นจริงอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ก็ได้) เด็กบางคนก็มาเป็นเอาช่วง 3 หรือ 4 ขวบ กลายเป็น Terrible Threes, Terrible Fours ไป

    เด็กในช่วงดื้อนี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ส่วนใหญ่เด็กจะดื้อกับพ่อแม่ หรือคนเลี้ยง มากกว่าเป็นกับคนแปลกหน้า การที่เด็กแสดงพฤติกรรมแบบนี้ เกิดจากพัฒนาการของตัวเด็กกำลังเปลี่ยนสภาวะ พูดง่ายๆ ก็คือ เด็กรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรด้วยตัวเองได้มากขึ้น เคลื่อนไหวมือ เท้า ได้อย่างอิสระ เดินได้ เลยรู้สึกเหมือนกับตัวเองยิ่งใหญ่ขึ้น อยากเรียนรู้โลก แสดงความเป็นตัวตน และแสดงออกทางอารมณ์ให้ทุกคนเห็นว่า ร่างกายขยับได้แล้วนะ ตอนนี้อยากแสดงสิ่งที่เค้าสามารถทำได้อิสระ โดยไม่มีเหตุผลในการกระทำ คิดวิเคราะห์ไม่ได้ หรือไม่รู้จักความถูกต้องด้วยซ้ำ

    พฤติกรรมของเด็กในช่วงจอมดื้อ จอมซนนี้ มีการแสดงออกทางอารมณ์ค่อนข้างชัดเจน และต่างจากช่วงทารกเร็ว จนคุณพ่อคุณแม่อาจรับมือไม่ทัน เช่น ไม่เชื่อฟังคำสั่งพ่อแม่ ทำในสิ่งตรงข้ามกับที่พ่อแม่บอก ไปไหนไม่อยากให้จูง บางทีก็ดูเป็นเหมือนเด็กงอแง เจ้าอารมณ์ ไม่พอใจอะไรก็กรี๊ดใส่ ร้องไห้เอาแต่ใจ ไม่ได้ดั่งใจก็จะลงไปดิ้น แบบไม่อายใคร และไม่กลัวพ่อแม่จะอับอาย เด็กบางคนแสดงออกทางอารมณ์ค่อนข้างรุนแรง อาจจะปาข้าวของ เอาหัวโขกพื้น กัด ถีบ ตีหรือผลักโดยไม่รู้สึกผิด หรือบางครั้งแสดงออกไปในทางรุนแรงมากซะจนพ่อแม่บางคนคิดว่าเป็นเด็กมีอาการทางจิตร่วมด้วยก็ได้

    คุณพ่อคุณแม่ควรต้องเตรียมตัวรับมือกับสภาวะนี้ให้ดี หากคุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวไว้สักหน่อย ก็จะสามารถดูแลอารมณ์ตัวเองไว้ก่อนได้ จะได้ไม่เผลอโกรธจนระงับอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ อาจลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง จนกลายเป็นแผลในใจติดตัวเด็กไปตลอดเลยก็ได้ การรับมือกับเด็กในช่วงวัยนี้มีทางออกได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนด้วย บางวิธีใช้กับเด็กคนนึงได้ผล แต่ใช้กับเด็กอีกคนไม่ได้ผลก็ได้ อย่างน้อยคุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ ปรับพฤติกรรม และอารมณ์ของลูกเพื่อให้ผ่านช่วงนี้ไปให้ได้

    พูดคุยเรื่อง Terrible Twos พันทิป
    http://topicstock.pantip.com/family/topicstock/2011/08/N10965252/N10965252.html
    http://topicstock.pantip.com/family/topicstock/2010/02/N8839521/N8839521.html
    http://topicstock.pantip.com/family/topicstock/2009/01/N7438858/N7438858.html



    1. พ่อกับแม่พูดแต่คำว่า "ไม่"
    เมื่อลูกน้อยจะลองเดินขึ้นบันไดคนเดียว ก็ได้ยินเสียงคุณแม่เอ็ดว่า "ไม่ได้นะ เดี๋ยวตกมาคอหักตายหรอก"
    เมื่อลูกน้อยไปหยิบลิปสติกในกระเป๋าคุณแม่มาเล่น คุณแม่ก็เข้ามาดึงไปจากมือพร้อมกับพูดว่า "อันนี้เล่นไม่ได้นะ"
    เมื่อลูกลองปีนเก้าอี้ คุณแม่ก็จะตะโกนมาแต่ไกลว่า "อย่าปีน ลงมาเดี๋ยวนี้"

    การที่คุณแม่ห้ามไม่ให้เด็กทำนู่นทำนี่ ด้วยเหตุผลที่กลัวจะเกิดอันตราย หรือทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำ เด็กจะได้ยินแต่คำว่าไม่ๆๆ โดยไม่เข้าใจว่าทำไมถึงทำไม่ได้ เค้าแค่จะทำในสิ่งที่อยากทำ คุณแม่ต้องคิดว่า เด็กอยู่ในสภาวะที่เริ่มพัฒนาการทางอารมณ์ อย่าคิดว่าเค้าท้าทาย แกล้ง หรืออยากเอาชนะ เด็กวัยนี้จะยังไม่สามารถรับรู้ในเชิงซับซ้อนได้ว่า ถ้าปีนบันได อาจจะตกลงมา เมื่อตกบันไดแล้วจะบาดเจ็บได้ เด็กไม่เข้าใจคำว่าเจ็บแค่ไหน ยังไง และยังไม่รู้จักคำว่าตายด้วยซ้ำ เมื่อคุณแม่เข้าไปดึงเด็กออกจากสิ่งที่เค้าอยากทดลองทำด้วยตัวเอง เด็กอาจจะรู้สึกเหมือนกับโดนขัดใจอย่างรุนแรง อาจจะแสดงออกด้วยการร้องไห้ กรี๊ด หรือแสดงออกด้วยอารมณ์รุนแรง

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือพูดให้ลูกเข้าใจด้วยเหตุผลที่เด็กจะพอเข้าใจได้ เช่น ถ้าหนูจะลองขึ้นลงบันได คราวหน้าแม่จะสอนวิธีให้ วันนี้ลูกขึ้นไปพร้อมแม่ก่อนนะ หรือเมื่อลูกเอาของของคุณแม่มาเล่น ก็ต้องหลอกล่อ หรือเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการหาแท่งสี หรือสิ่งอื่นมาทดแทนให้



    2. แม่ กับ ลูก ใครจะเป็นฝ่ายชนะ
    เมื่อคุณแม่พาลูกน้อยไปห้างสรรพสินค้า แล้วเกิดขัดใจไม่ยอมซื้อของเล่นที่ลูกอยากได้ คุณลูกกรี๊ด หรือลงไปนอนดิ้นอยู่ที่พื้น คุณพ่อคุณแม่ควรจะรับมือยังไง

    พฤติกรรมที่ลูกกรี๊ดกลางห้าง เป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายคนขยาดพาลูกไปนอกบ้านเลยทีเดียว เพราะพ่อแม่อาจจะรู้สึกอับอาย ไม่รู้ว่าจะรับมือกับลูกยังไงดี อาจจะอดไม่ได้ที่จะ ตวาด ขู่ หรือตีลูก เพื่อให้ลูกหยุด ซึ่งพลอยทำให้คนรอบข้างมองไปว่าเป็นการทำร้ายจิตใจ ทารุณกรรมเด็ก หรือจะไม่ทำอะไร ปล่อยให้ลูกดิ้นอยู่ตรงนั้น แล้วเดินหนึไปเลย ก็จะกลายเป็นคุณแม่ใจร้ายเกินไป

    เด็กในวัยนี้จะยังไม่รู้จักสังคมรอบตัว เค้าคิดว่าโลกของเค้า มีแค่พ่อกับแม่ และคนใกล้ชิดเท่านั้น ซึ่งทุกคนจะต้องยอม และให้ในสิ่งที่เค้าต้องการ เมื่อโดนขัดใจ พฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกมาตามธรรมชาติ จะเหมือนกับเด็กกำลังต่อรองกับคุณแม่ว่า หากคุณแม่ไม่ยอม เค้าก็จะอาละวาดจนกว่าจะได้ หากคุณแม่ยอมให้แล้วละก็ เค้าจะหยุดร้อง ในขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกว่า ลูกจะมาต่อรอง หรือดื้อใส่แบบนี้ไม่ได้นะ ไม่ยอมเด็ดขาด ต้องควบคุมอารมณ์ลูกให้ได้ เอาให้อยู่ ไม่งั้นเดี๋ยวเหลิง

    เมื่อลูกน้อยแสดงอารมณ์ในที่สาธารณะแบบนี้ สิ่งแรกคือคุณแม่ต้องทำคือ ปรับอารมณ์ตัวเองมาอยู่ในโหมดปกติก่อน ให้คิดว่าสิ่งที่ลูกทำคือพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กวัยนี้ ไม่ใช่การเอาชนะ เมื่อเราไม่รู้สึกโกรธหรือเอาอารมณ์ไปผูกกับปัญหา (แม้ว่าจริงๆ ยังโมโหอยู่ก็ตาม!) ต่อไปก็ต้องหาวิธีจัดการกับอารมณ์ของลูก ด้วยการให้เค้าหยุดอารมณ์ของเค้าลงให้ได้ก่อน ด้วยการอุ้ม หรือพาเค้าไปคุยกันสองคนในที่เงียบๆ พูดกับเค้าดีๆ นั่งลงใกล้ๆ แล้วลองพูดว่า

    "แม่ไม่ชอบที่หนูทำแบบนี้ หยุดร้องแล้วคุยกับแม่ดีๆ ก่อน"
    "หนูพูดไปร้องไห้ไปแบบนี้ แม่ฟังไม่รู้เรื่องเลย ไหนพูดให้แม่ฟังอีกทีซิ"
    "ลูกหยุดร้องก่อน แล้วพูดกับแม่อีกทีสิว่าลูกต้องการอะไร"

    คุณแม่ต้องโปรยคำพูดที่จะช่วยให้เด็กหยุดร้องได้ก่อน เพื่อให้อารมณ์เค้าสงบลง แต่ไม่ได้หมายความว่าเค้าชนะ เพราะคุณยังไม่ได้ให้ในสิ่งที่เค้าต้องการ เมื่อลูกสงบลงแล้ว ค่อยพูดเหตุผลให้เค้าฟัง หรือเบี่ยงเบนความสนใจเค้าไปทางอื่น เช่น

    "เดี๋ยวเราไปซื้อขนมกันก่อนแล้วค่อยไปดูของเล่นนะ ตอนนี้แม่ถือของหนัก"
    "เมื่อกี้แม่เห็นขนมที่หนูชอบ เราไปดูกันซิว่าหมดรึยัง"

    ไม่ควรสัญญากับลูก หรือพยายามหยุดพฤติกรรมของลูกด้วยการให้ในสิ่งที่เค้าต้องการทันที เพราะเค้าจะคิดว่า สิ่งที่เค้าทำคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ต่อไปเค้าก็จะแสดงพฤติกรรมแบบนี้อีก



    3. ฝึกให้ลูกเป็นคนเคารพผู้ใหญ่ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
    คุณพ่อคุณแม่คงเคยโดนลูกแผลงฤทธิ์ เตะ ตี ถีบ หรือแสดงอารมณ์ตอนเค้าไม่ได้ดั่งใจมาบ้าง หรือแม้แต่คนในบ้านบางคนอย่างพี่เลี้ยง ปู่ ย่า ตา ยาย เด็กบางคนก็สามารถปาข้าวของใส่ได้โดยไม่รู้สึกอะไร หากเด็กมีพฤติกรรมทำร้ายผู้อื่น หรือเด็กด้วยกันเอง ถือเป็นจังหวะเหมาะที่ คุณพ่อคุณแม่จะช่วยสร้างเสริมความเข้าใจในเรื่องของการเคารพผู้ใหญ่ ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และปลูกฝังนิสัยที่ดีให้แก่ลูกตั้งแต่เด็กๆ

    เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมเตะ ถีบ หรือตีคนอื่น เด็กจะจังไม่รู้หรอกว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง สิ่งที่คุณแม่ต้องทำคือ แสดงให้ลูกเห็นว่า เป็นเด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ อาจแสดงให้เด็กเห็น หรือบอกกล่าวเค้า เช่นเมื่อลูกปาของเล่นใส่คุณยาย ก็ต้องให้ลูกรู้จักขอโทษ ด้วยการพูดให้ลูกเข้าใจว่า การทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง และต้องสร้างความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้กับลูกน้อย

    "หนูปาของเล่นใส่คุณยายแบบนั้นไม่ได้นะคะ คุณยายเจ็บนะ สงสารคุณยายจังเลย คุณยายแก่แล้ว หนูไปดูสิคะว่า เป็นแผลมั้ย เป่าให้คุณยายหน่อยสิคะ"
    "หนูเตะคุณพ่อแบบนี้ ไม่ดีนะคะ ไม่ทำนะคะ"
  2. Number18

    Number18 Moderator Staff Member

    4. ฝึกวินัยให้ลูกน้อยตั้งแต่เนิ่นๆ
    ใน ช่วง 2-3 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กมีกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่นกิน นอน ขับถ่าย เล่น แปรงฟัน กิจวัตรประจำวันที่ลูกต้องทำ ควรจัดให้ตรงตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ เช่นกินข้าวแต่ละมื้อตรงเวลา นอนตรงเวลา เวลาเล่น เวลาแปรงฟัน เพื่่อเป็นการฝึกให้เด็กมีวินัยในตัวเอง และรับรู้ว่าเวลานั้นๆ เป็นกิจกรรมที่ต้องทำอะไร ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความอดทน เช่นฝึกให้ลูกนอนตรงเวลา แรกๆ เด็กอาจจะไม่ยอมนอน ต่อต้าน ร้องไห้งอแง ให้เล่านิทาน

    คุณ พ่อคุณแม่ควรใช้ตารางเวลากิจกรรมให้ลูกตั้งแต่เล็ก เป็นตารางกิจวัตรประจำวันที่เด็กควรรับรู้ และรักษาวินัยในการทำกิจกรรมในแต่ละวัน เราอาจเตือนให้ลูกทำตามตามราง
    "เอ๊ ตอนนี้ถึงเวลาอะไรแล้วน๊า ไหนช่วยแม่นึกหน่อยสิว่า วิ่งเล่นเสร็จแล้ว จะทำอะไรต่อ"

    การฝึกวินัยให้ลูก ยูทูป




    5. ชื่นชม ให้กำลังใจ ให้รางวัลแก่ลูกน้อย
    เด็กๆ ช่วงแทริเบิล ทูส์ จะมีอารมณ์ไม่ค่อยคงที่ บางทีก็หวาน ออดอ้อนแม่ และพูดจาน่ารัก เมื่อเด็กทำดี หรือพูดจาดี รู้จักขอโทษ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องโปรยคำชมให้ลูกบ่อยๆ กอดลูก และบอกรักบ่อยๆ เพื่อให้ลูกมีกำลังใจทำดีต่อไป บางครั้งคุณพ่อคุณแม่สามารถตั้งเป็นรางวัลการทำความดีให้ลูกได้ด้วย เช่นช่วยคุณแม่พับผ้า ได้เหรียญความดี หรือคะแนนสะสม อาจตั้งเป็นของรางวัลเพื่อให้เด็กอยากทำความดีเพิ่มขึ้น



    6. วิธีฝึกลูกให้ควบคุมอารมณ์ตัวเองด้วยวิธี "ไทม์ เอ๊าท์"
    "ไท ม์ เอ๊าท์" (Time out) แปลว่า ขอเวลานอก หรือการหยุดพักชั่วคราว เป็นวิธีการจัดการกับลูก ที่นำมาจากทฤษฎีที่วิจัยกันมาแล้วว่า ช่วยปรับเปลี่ยนอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็กได้ เมื่อเด็กมีอารมณ์โกรธ หรือเอาแต่ใจ ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เชื่อฟัง เด็กควรรู้จักวิธีควบคุมอารมณ์ตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาการใช้วิธี ไทม์ เอ๊าท์ ใช้ในเวลาที่เหมาะสม และใช้อย่างถูกต้อง เพื่อสร้างสื่อที่ตรงกันกับลูก

    การ ใช้วิธี ไทม์ เอ๊าท์ เป็นที่นิยมใช้ในการควบคุมอารมณ์เด็ก ในต่างประเทศ แต่อาจจะยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมในเมืองไทยนัก เพราะพ่อแม่บางคนก็ไม่กล้าทดลองเปลี่ยนแปลงนิสัยลูกด้วยวิธีนี้ หรือยังมีความเชื่อในการเลี้ยงลูกแบบเดิมๆ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องใช้วิธี ไทม์ เอ๊าท์ ควรมีข้อตกลงในการเลี้ยงลูกที่ตรงกันก่อน เพื่อไม่ให้เด็กสับสน

    วิธี การใช้ ไทม์ เอ๊าท์ จะใช้เมื่อเด็กทำผิด ดื้อ อาละวาด หรือเราไม่สามารถพูดให้เด็กหยุดการกระทำนั้นๆ ได้ วิธีการก็คือ กำหนดจุดภายในบ้าน ที่ให้เด็กได้นั่งอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้รับความสนใจจากใครเลย เช่นริมบันได เก้าอี้ที่อยู่มุมห้อง หรือจุดที่เรากำหนดไว้ว่านี้คือจุดพัก (อารมณ์) ของเด็ก ควรเป็นที่ๆ เราสามารถมองเห็นเด็กได้ เมื่อให้เด็กเข้าไปอยู่ในจุดนั้นแล้ว ให้เวลาเค้าได้สงบสติอารมณ์ แล้วจึงเข้าไปพูดกับเค้าดีๆ ให้เค้าขอโทษในสิ่งที่ทำ ให้เด็กได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เค้าทำ ไม่ถูกต้อง และเค้าจะไม่ทำอีก


    ข้อแนะนำในการใช้ ไทม์ เอ๊าท์
    - วิธี ไทม์ เอ๊าท์ เริ่มใช้ได้กับเด็กตั้งแต่เริ่มเข้า 2 ขวบ จนถึงเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย หรือเริ่มเข้าโรงเรียน ควรใช้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอเวลาเด็กทำผิด จะทำให้เด็กเรียนรู้ และยอมรับข้อปฏิบัติได้ การใช้วิธีนี้กับเด็กที่เล็กมากๆ อาจไม่ได้ผล เพราะเด็กยังไม่รับรู้อะไร
    - ใช้วิธี ไทม์ เอ๊าท์ เมื่อเด็กไม่เชื่อฟัง หรือไม่หยุดทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่นลูกปัดจานข้าวจากโต๊ะอาหาร เมื่อคุณแม่เเตือนแล้ว ก็ทำอีก จึงใช้วิธีนี้ หรือหากคุณพ่อคุณแม่บอกว่าจะนับ 1-3 แล้วลูกไม่หยูดทำ จึงจะใช้วิธี ไทม์ เอ๊าท์
    - ก่อนที่จะใช้วิธี ไทม์ เอ๊าท์ คุณพ่อคุณแม่ต้องพูดเตือนลูกก่อนทุกครั้ง ว่าถ้าทำอีกแม่จะใช้วิธี ไทม์ เอ๊าท์ นะ เมื่อเด็กไม่เชื่อฟัง จึงนำเด็กไปอยู่ในจุดที่ตกลงกันไว้ว่าเป็นจุดพัก ไทม์ เอ๊าท์
    - จุดไทม์ เอ๊าท์ (อาจจะเรียกว่าเป็นจุดระงับสติอารมณ์) ควรอยู่ในพื้นที่ที่มองเห็นเด็กได้ในสายตา ไม่จำเป็นต้องเป็นมุมลึกลับ อาจจะเป็นแถวริมบันได (ขั้นแรก) ในเปลเด็ก โซฟา หรือหาเก้าอี้วางไว้ตรงด้านใดด้านหนึ่งของห้อง แล้วตกลงกันว่านี่คือจุด ไทม์ เอ๊าท์
    - ตรงจุดไทม์ เอ๊าท์ ควรเป็นพื้นที่เรียบโล่ง ไม่มีของเล่น ตุ๊กตา ทีวี หนังสือนิทาน หรือสิ่งเร้าอื่นๆ สำหรับเด็ก เป็นที่ที่แยกมา ให้เด็กนั่งเฉยๆ เท่านั้น
    - จุดไทม์ เอ๊าท์ ควรเป็นจุดเดิมทุกครั้ง ไม่ควรขังเด็กไว้ห้องนอน ห้องน้ำ หรือที่มืด เพราะการใช้วิธี ไทม์ เอ๊าท์ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการให้เด็กหยุดอารมณ์ก้าวร้าว การกักขังเด็กจะทำให้เด็กเกิดการกลัวการถูกทิ้ง แบบฝังใจ และเกิดปัญหากับสภาพจิตใจเด็กได้ในภายหลัง
    - เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจใช้วิธี ไทม์ เอ๊าท์ แล้ว ควรมีความเด็ดขาด อดทน มีความเห็นในการดูแลลูกไปในแนวเดียวกัน ไม่ควรมีความเห็นแตกแยกในการเลี้ยงดูลูก เพราะอาจทำให้เด็กสับสน และมีพัฒนาการไม่ดี
    - ขณะที่เด็กอยู่ในช่วงเวลาไทม์ เอ๊าท์ คุณแม่ หรือใครๆ ในบ้านต้องอดทน ไม่พูด หรือเข้าไปยุ่งกับเด็ก อาจเดินผ่านไปผ่านมาได้ แต่ต้องเพิกเฉย แม้แต่เด็กร้องไห้ อ้อนวอน ก็ไม่อุ้มมาโอ๋ต่อ จนกว่าเด็กจะสงบ
    - ขณะที่คุณแม่พาลูกไปอยู่ในจุดไทม์ เอ๊าท์ ถ้าลูกไม่ยอมอยู่ตรงนั้น เดินตามออกมา หรือเดินไปทางอื่น ก็ต้องอุ้มเด็กไปวางอีก โดยไม่ต้องพูดอะไรทั้งนั้น ทำซ้ำๆ จนกว่าลูกจะยอมอยู่นิ่งๆ ซึ่งคุณแม่ต้องใช้ความอดทนสักหน่อย
    - วิธีไทม์ เอ๊าท์ ใช้เวลาไม่นาน แค่ 1-2 นาทีหลังจากลูกอารมณ์สงบลง (สำหรับเด็กเล็กๆ 1 นาทีก็นานนะ) อาจจะใช้อายุลูกเป็นตัวกำหนด เช่นลูกอายุ 2 ขวบ ก็ประมาณ 2 นาที, 4 ขวบ ก็ใช้เวลา 4 นาที อาจจะน้อยหรือมากกว่านั้น เมื่อเห็นว่าลูกสงบลงแล้ว ค่อยเดินเข้าไปคุยกับลูกดีๆ ว่า

    "แม่ไม่ชอบให้หนูปาข้าวของอีก หนูคิดว่าหนูทำได้นะ"
    "หนูปาของเล่นใส่แม่ไม่ได้นะ แม่เจ็บ ขอโทษแม่ก่อนค่ะ"

    เมื่อลูกยอมรับผิด ยอมขอโทษ ก็ต้องพูดชมลูก ที่ขอโทษ และสำนึกผิด จากนั้นก็ต้องโอบกอดลูก และให้กำลังใจเค้า



    ข้อมูลเพิ่มเติม
    พูดคุยเรื่อง Time out พันทิป http://topicstock.pantip.com/family/topicstock/2009/06/N7934420/N7934420.html

    ตัวอย่างการใช้ Time out ยูทูป




แบ่งปันหน้านี้